ชาวไทย มีวิถีชีวิต ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมากอย่างยาวนาน สายน้ำนำพาอย่างอุดมสมบูรณ์มสู่ชีวิต บ้านเรือน ชุมชน ก่อเกิดตำนาน วิถีความเชื่อ สัมมาอาชีพ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ประเพณี และวิถีการคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำนที วารี คงคา สายชล ชลาลัย ชโลธร และอีกมากมาย ล้วนเป็นชื่อที่แตกต่าง แต่กลับมีความหมายว่า สายน้ำ ของเหลวที่มีพลังและทรงคุณค่ายิ่งต่อสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ น้ำคือแหล่งกำเนิด และหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อยามเกรี้ยวกราดสายน้ำก็อาจมีพลังในการชะล้างและทำลายได้อย่างราบคาบ ดังเช่น พลังแห่งน้ำในรูปแบบภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่มนุษย์เราได้เคยประสบ
สายน้ำ สายสัมพันธ์
นับร้อยนับพันปีก่อนที่จะมีถนนหนทาง วิถีชีวิตของคนล้วนผูกพันอยู่กับสายน้ำ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนคุณค่าวิถีและประเพณีไทยมากมายหลายประการ และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสายน้ำคือ เรือ พาหนะหลักที่นิยมใช้สัญจรไปมา ระหว่างชุมชน หมู่บ้านและเมืองใหญ่ ๆ ทั้งในรูปแบบการค้าขาย และแม้แต่ การสู้รบในอดีต จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เรือในประเทศไทย มีที่มาและวิวัฒนาการก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง มหาราช ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินเรือของคนไทย ที่ปรากฏอยู่บนหลัก ศิลาจารึกในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ปี ค.ศ. 1822 – 1843) หลักที่ 4 ด้านที่ 4 กล่าวถึงการเดินทางด้วยเรือ และถนน โดยสันนิษฐานว่าในสมัยนั้นมีการทำเรือโดยใช้ต้นไม้ทั้งต้น รวมไปถึงเรือที่ใช้ไม้กระดานต่อกันแล้วชันยา เพื่อเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างแพร่หลาย และแม้ว่าในปัจจุบัน การคมนาคมขนส่งทางบกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่กระนั้น เรือ ก็ยังคงมีมนต์ขลังและเป็นพาหนะโดยสารทางน้ำ ที่สร้างบรรยากาศชวนประทับใจให้กับผู้ที่มีจิตวิญญาณรักในความเป็นธรรมชาติอย่างไม่รู้ลืม
สายน้ำ ประเพณี
นอกจากประโยชน์ใช้สอยในการเป็นพาหนะสัญจรเพื่อเดินทาง การค้า รับจ้างและการขนส่งทางทหารแล้ว เรือยังเป็นสัญลักษณ์เชิงประเพณีนิยม ได้แก่ การทำบุญตักบาตรทางเรือ ประเพณีแข่งเรือ ขบวนเรือกฐิน และผ้าป่า ตลอดจนการละเล่นทางเรือในสมัยโบราณอีกมากมาย
ทางภาคเหนือตอนบน พบว่าในแถบลุ่มน้ำที่สำคัญคือ ปิง วัง ยม น่าน จะมีการใช้เรือในการประกอบอาชีพ ใช้ข้ามฟาก ไปไร่ ไปสวน และขนถ่ายสินค้าจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เรือที่นิยมใช้ก็มีชื่อเรียกต่างกันไปตามลักษณะของเรือ เช่น เรือแม่ประเค้า เรือแม่ปากหรือเรือหางแมงป่อง
ในแถบภาคอีสาน นิยมใช้เรือขนาดเล็ก ทำจากไม้ตะเคียน เรียกว่า เรือชะล่า ส่วนเรือขนาดใหญ่ใช้บรรทุกขนส่งสินค้า เรียกว่า เรือกระแชง หรือ เรือหมากกระแชง รูปร่างคล้ายเรือเอี้ยมจุ๊น แต่ยาวกว่าเรือเอี้ยมจุ๊นของชาวภาคกลางประมาณ 3 เท่า และเรือชะล่าชนิดยาว ทำจากไม้ตะเคียนรับน้ำหนักได้ 24 คน ขึ้นไป นิยมใช้เป็นเรือลำเลียงในยามศึกสงคราม และใช้แข่งเรือพายในช่วงเทศกาลออกพรรษา
เรือในภาคกลาง เกิดขึ้นจากลักษณะที่ตั้งของชุมชนและบ้านเรือนเป็นสำคัญ เนื่องจากในสมัยนั้นนิยมตั้งบ้านเมืองอยู่ในที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน พาหนะชนิดเดียวที่ใช้อำนวยความสะดวกก็คือเรือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ เรือหลวง เช่น เรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือพระที่นั่งกิ่งและ เรือพระที่นั่งศรี เป็นต้น ส่วนเรือราษฎรที่นิยมใช้แบ่งเป็นเรือแม่น้ำ และเรือทะเล เรือแม่น้ำ ได้แก่ เรือมาด เรือหมู เรือพายม้า เรือม่วง เรือสำปั้น เรืออีแปะ เรืออีโปง เรือบด เรือป๊าบ เรือชะล่า เรือเข็ม เรือสำปันนี เรือเป็ด เรือผีหลอก เรือเอี้ยมจุ๊น เรือข้างกระดาน เรือกระแชง เรือยาว เรือมังกุ
สำหรับเรือทะเล ได้แก่ เรือฉลอม เรือฉลอมท้ายญวน เรือเป็ด ทะเล เรือกุแหละ หรือเรือกุไหล่ เรือโล้ เรือสำเภา เรือปู เป็นต้น ส่วนเรือของตำรวจในอดีต เรียกว่า เรือม่วง เป็นเรือขุดยาวประมาณ 4 เมตร แล่นเร็ว ใช้ในการไล่กวดจับโจร และเรือจ้าง ที่นิยมใช้เป็นยานพาหนะรับจ้างรับคนโดยสารข้ามแม่น้ำ หรือลำคลองจากฟากหนึ่งส่งอีกฟากหนึ่ง
เรือในภาคใต้ เกิดขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย ในยุคการแพร่ขยายศาสนาอิสลามในประเทศไทยชาวมุสลิมเริ่มเข้ามาตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เรือกอและจึงถือกำเหนิดขึ้นและกลายเป็นสัญลักษณ์ของภาคใต้ นอกจากการใช้เป็นพาหนะสำคัญในการประกอบอาชีพการประมงท้องถิ่นแล้ว เรือกอและยังมีเอกลักษณ์ที่สวยงามโดดเด่นด้วยการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมที่งามวิจิตรบนลำเรือ สะท้อนถึงศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีนิยมที่งดงามแห่งแดนใต้ นอกจากนี้ยังมีเรือหัวโทง ซึ่ง เกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ ณ บ้านหาดยาว หมู่ที่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง และ ต.เกาะกลาง ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านนิยมใช้ในการประมงชายฝั่ง ต่อมาเริ่มขยายไปสู่การค้าขาย และรับจ้างพานักท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ
ไม่ว่าเมื่อใด ในอดีตหรือปัจจุบัน คุณค่าของสายน้ำที่มีต่อชีวิต ก็จะยังดำรงอยู่และคลี่คลายไปในวิถีที่ควรจะเป็น สัญลักษณ์ของสายน้ำและประเพณี คือสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัย ความดีงามและศิลปะที่สอดแทรกอยู่ในวิถีแห่งสายน้ำ ซึ่งเราควรตระหนัก หวงแหน และช่วยกันดูแลรักษาสายน้ำให้ดำรงคงอยู่อยู่เฉกเช่นที่มันควรจะเป็น