อาหารคือการสื่อสารทางวัฒนธรรม

                อาหารไทยนั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยกลมกล่อมแล้ว หน้าตายังน่ารับประทานอีกด้วย ดังที่มีคำกล่าวว่า “รูปสวยรวยรส” ก็น่าจะไม่เกินความจริง แต่การเผยแพร่อาหารไทยไปทั่วโลกนั้นนอกจากจะเป็นการประกาศให้ทั่วโลกทราบว่าคนไทยมีฝีมือในการทำอาหารแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านทางอาหารอีกด้วย ว่าประเทศเรานั้นมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงามและยาวนาน แม้แต่ในอาหารยังมีความประณีตทั้งในการปรุงรสและกระแกะสลักตกแต่งให้หน้าตาของอาหารให้ดูน่ารับประทานอีกด้วย

วัฒนธรรมที่ส่งผ่านอาหารเลิศรส

อาหารไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่านอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีกลิ่นที่เชิญชวนให้รับประทานและมีหน้าตาและสีสันสวยงาม อีกทั้งยังมีหลายชนิด แม้แต่การประกอบอาหารก็ยังมีการประดิดประดอยเพื่อเสริมรสชาติทั้งยังเป็นอาหารตาอีกด้วย การประดิษฐ์อาหารให้มีความสวยงามนั้นแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวไทยว่ามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร ทำให้ทั่วโลกทราบว่าข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และข้าวไทยนั้นอร่อยที่สุด ทำให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ว่าคนไทยนั้นเป็นคนช่างคิด ช่างทำ มีความอดทนมีฝีมือประณีต มีความคิดสร้างสรรค์ อาหารสำรับไทยโบราณนั้นไม่เป็นแค่อาหารจานเดียว แต่จะจัดมาเป็นสำรับ ในหนึ่งสำรับนั้นจะมีกับข้าวที่มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อทานด้วยกันแล้วสามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีวัฒนธรรมการกินที่ละเอียดอ่อน ต้องกินครบรสและแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันยาวนานผ่านทางการแกะสลักผักและผลไม้อีกด้วย

เราต้องยอมรับว่าอาหารไทยไม่ได้เป็นแต่เพียงอาหาร แต่ยังนับเป็นงานศิลปะอีกด้วย เพราะนอกจากจะมีการปรุงรสให้กลมกล่อมแล้ว ในการตกแต่งจานก็ยังต้องทำให้สวยงามน่ารับประทาน แต่ถึงแม้ว่าอาหารไทยจะเป็นที่นิยมไปทั่วโลก แต่วัยรุ่นไทยเองกลับสนใจอาหารตะวันตก อาหารต่างชาติมากกว่า จะเห็นได้ว่าอาหารชาติอื่น ๆ เข้ามาได้รับความนิยมจากวัยรุ่นไทยเป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่อาหารไทยดั่งเดิมกำลังเลือนหายไปตามกาลเวลาเพราะไม่มีใครทำเป็น อาจจะเป็นเพราะมีกรรมวิธีการทำที่ต้องอาศัยความชำนาญ การฝึกฝน และต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากจึงทำให้น้อยคนจะทำเป็น อาหารไทยโบราณบางชนิดแม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนไป แต่ก็อยากให้คนไทยกลับมาสนใจที่จะอนุรักษ์ อาหารไทย ขนมไทยให้คงอยู่ เพื่อแสดงให้ลูกหลานเห็นถึงวัฒนธรรมที่ยาวนานของเรา อยากให้วัยรุ่นไทยมีความรู้สึกรักและหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีของเรา มันคงจะดีไม่ใช่น้อยถ้าหากเด็กรุ่นใหม่ทำอาหารไทยเป็น และกลับมาสืบทอดสูตรอาหารไทยโบราณกันอีกครั้ง เพื่อให้ขาวโลกรู้ว่าเราไม่ได้ลืมรากเหง้าของตัวเอง ไม่ได้ไหลไปกับกระแสตะวันตก

สมุนไพรพื้นบ้าน ภูมิปัญญาไทย  

แม้ยุคสมัยจะแปรเปลี่ยนไป แต่อาหารยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต การรับประทานอาหารจึงเป็นมากกว่าที่หลายคนคิด อาหารพื้นบ้านที่ประกอบด้วยพืชผักสมุนไพร คือภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ซึ่งคนสมัยโบราณนำมาปรุงแต่งจัดเรียงเป็นสำรับอาหารที่สวยงาม เลิศรสและอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ เรียกได้ว่าสำรับอาหารไทยรวมเอาทั้งศาสตร์และศิลป์มาอยู่ในวิถีการกินของคนเราอย่างแยบยล  นอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง เบิกบาน แล้วยังช่วยยืดอายุของผู้รับประทานไปได้อีกยาวไกล

กินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร

ปัจจุบันวงการแพทย์ได้ให้ความสนใจในสรรพคุณของพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านของไทยหลายชนิด โดยมีการค้นคว้าวิจัยมากมายเกี่ยวกับ ประโยชน์ของสมุนไพรไทยและผักพื้นบ้าน ที่เรานิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ยกตัวอย่าง เช่น น้ำพริกกะปิแกล้มด้วยผักสด และเครื่องเทศ สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบหลักในเครื่องแกงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แกงเผ็ด แกงส้ม ต้มยำ เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบหลัก ที่เป็นพระเอกชั้นแนวหน้าของครัวไทยคงหนีไม่พ้น กระเทียม

กระเทียมมีสรรพคุณมากมาย เป็นเหตุให้กระเทียมเป็นสมุนไพรทางเลือกในบำบัด รักษาและส่งเสริมสุขภาพ  ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า กระเทียมมีสรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด รักษาโรคความดันโลหิตสูง ปรับสมดุลในร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคมะเร็ง เพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ ข้อต่อ กระดูก และสรรพคุณอื่น ๆ อีกรวม 49 ประการ พร้อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ความเชื่อและศาสตร์ในสมุนไพรทางเลือกชนิดนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก นำมาซึ่งกระบวนการคิด “กินอาหารเป็นยา ยังดีกว่ากินยาเป็นอาหาร”

อาหารเพื่อสุขภาพและความงาม

ขณะที่เทรนอาหารแฟชั่นที่กำลังมาแรง การดูแลสุขภาพวิถีไทยโดยการนำพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ก็ได้ถูกนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ในเมนูอาหารต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น อาหารคลีน และอาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยชะลอริ้วรอยแห่งวัย ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคในการรับประทานอาหารโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 อาหารประเภทโปรตีน ซึ่งเหมาะที่จะรับประทานในมื้อเช้า เพื่อใช้เป็นพลังงานในชีวิตประจำวัน ส่วนโปรตีนที่รับประทานในมื้อเย็นนั้น ควรเป็นโปรตีนจากพืช เช่น ธัญพืช ถั่วเหลือง เต้าหู้ และเวย์โปรตีน ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย  กระตุ้นโกรทฮอร์โมนให้ทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ น้ำเปล่า  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ 90 เปอร์เซ็นต์ของร่ายกาย ซึ่งเราควรดื่มน้ำเปล่าไม่ต่ำกว่า 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อฟื้นฟูเซลล์ให้แข็งแรงไม่เกิดริ้วรอยได้ง่าย

กลุ่มที่ 3 ได้แก่ วิตามิน A C และ E  หรือ โคเอนไซด์คิวเทน ที่ช่วยกระตุ้นให้ไมโทคอนเดรีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ในร่างกายทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นเราจึงไม่อาจมองข้ามภูมิปัญญาเรื่องอาหารและการดูแลสุขภาพแบบวิถีไทย คุณค่าของพืชผักสมุนไพรใกล้ตัว ที่อยู่คู่ครัวไทยมานานแสนนาน  เหล่านี้เองคือเคล็ดลับที่ช่วยสร้างสมดุลชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์สมวัย ได้อีกนานเลยทีเดียว